ลูกค้าหลายๆท่านถามกันเข้ามาตลอด ว่าการต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้างในการกู้ซื้อบ้าน วันนี้แอดมินจึงนำรายการเอกสารต่างๆมาให้ดูกันค่ะ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนตัดสินใจซื้อบ้าน ขอบคุณข้อมูลจากเว็บธนาคารธอส (GH Bank) https://blog.ghbank.co.th/
ทบทวนเอกสารการกู้ซื้อบ้านที่ต้องยื่น
เอกสารขอสินเชื่อบ้านประกอบไปด้วย 3 หมวดหลัก ได้แก่ เอกสารส่วนบุคคล เอกสารการเงินหรือแสดงที่มารายได้ และเอกสารหลักประกัน
1. เอกสารส่วนบุคคล
เอกสารขอสินเชื่อบ้านกลุ่มนี้ ไม่มีอะไรมาก ธนาคารเพียงต้องการหลักฐานส่วนบุคคลไว้ยืนยันตัวตนและทำธุรกรรมด้วยเท่านั้น ทั้งนี้ ถ้าผู้ขอสินเชื่อมีคู่สมรส ก็ต้องยื่นเอกสารของคู่สมรสด้วย เพราะถือเป็นบุคคลเดียวกัน เอกสารส่วนบุคคล ได้แก่
- บัตรประจำตัวประชาชน / บัตรข้าราชการ / บัตรรัฐวิสาหกิจ
- สำเนาทะเบียนสมรส / ใบหย่า / ใบมรณะบัตร (คู่สมรส) (ถ้ามี)
- สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ – สกุล (ถ้ามี)
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนคู่สมรส (ถ้ามี)
2. เอกสารทางการเงิน
เอกสารทางการเงิน คือ เอกสารที่เราจะใช้แสดงที่มารายได้ ดังนั้น ที่มารายได้ของแต่ละอาชีพจึงแตกต่างกัน ซึ่งธนาคารจะแบ่งอาชีพที่มีรายได้ต่างกันเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่
- พนักงานประจำ
- ใบรับรองเงินเดือน / หนังสือผ่านสิทธิสวัสดิการ
- สลิปเงินเดือนหรือหลักฐานการรับเงินเดือนย้อนหลัง 3 เดือน
- สำเนาบัญชีเงินฝากย้อนหลัง 6 เดือน
- ผู้ประกอบอาชีพอิสระ
- สำเนาบัญชีเงินฝากย้อนหลัง 12 เดือน/หลักฐานแสดงฐานะการเงินอื่นๆ (พร้อมเอกสารฉบับจริง)
- สำเนาทะเบียนการค้า/ทะเบียนบริษัท/ห้างหุ้นส่วน
- หลักฐานการเสียภาษีเงินได้
- รูปถ่ายกิจการ
- สำเนาใบประกอบวิชาชีพ
ทั้งนี้ เอกสารการเงินมักเป็นส่วนที่ทำให้หลายคนกู้ขอสินเชื่อไม่สำเร็จ เพราะเครดิตหรือความน่าเชื่อถือทางการเงินไม่เพียงพอ ดังนั้น เราจึงต้องเตรียมสร้างเครดิตให้กับเอกสารทางการเงินให้ดีก่อนยื่นกู้ วิธีเหล่านั้นจะกล่าวถึงในหัวข้อต่อไป
3. เอกสารหลักประกัน
เอกสารขอสินเชื่อบ้านในกลุ่มสุดท้าย เราต้องยื่นเพื่อเป็นหลักประกันให้กับธนาคารว่าเราจะชำระหนี้คืนให้แก่เขา โดยที่กรรมสิทธิ์ของสินทรัพย์จะยังเป็นของเราอยู่ เอกสารหลักประกันก็มีหลายประเภทโดยจะแตกต่างกันที่จุดประสงค์การกู้ คือ ซื้อ หรือสร้าง
- สำเนาจะซื้อจะขาย / สัญญาวางมัดจำ / สัญญาเช่าซื้อการเคหะฯ และหนังสือรับรองยอดคงเหลือ
- หลักฐานการเป็นเจ้าของอาคาร
- สำเนาโฉนดที่ดิน / นส.3ก / หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด / อช.2 ทุกหน้า
- ใบอนุญาตปลูกสร้าง / ต่อเติม
- แบบแปลน
- ใบประมาณการปลูกสร้าง / สัญญาว่าจ้างก่อสร้าง
*หมายเหตุ ธนาคารอาจขอเอกสารเพิ่มเติมจากผู้ขอกู้ตามแต่กรณี เพื่อใช้ประกอบพิจารณาการให้สินเชื่อ
ตรวจสอบเครดิตทางการเงิน ยื่นขอสินเชื่อให้ผ่านในครั้งเดียว
ตามที่ได้เกริ่นไปข้างต้นแล้ว เอกสารขอสินเชื่อบ้านประเภทเอกสารการเงิน มักจะเป็นอุปสรรคที่อาจทำให้คุณยื่นขอสินเชื่อไม่ผ่าน เพราะเอกสารการเงินคือสิ่งที่ธนาคารจะใช้พิจารณาความสามารถและความน่าเชื่อถือในการชำระหนี้ของเรา ได้แก่ บัญชีเงินฝากหรือรายการเดินบัญชี (Statement) ย้อนหลัง 6 เดือน และประวัติการชำระหนี้ โดยลูกค้าสามารถสร้างเครดิตให้เอกสารทั้งสองประเภทนี้ได้ด้วย 5 วิธีต่อไปนี้
1.ตรวจสอบเครดิตบูโร
ก่อนที่จะขอกู้ ลูกค้าควรตรวจประวัติการชำระหนี้ของลูกค้ากับ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร (NCB: National Credit Bureau) ก่อน เพื่อดูว่าเครดิตของคุณมีปัญหาอะไรหรือไม่ เช่น ค้างชำระ ติดแบล็คลิสต์ ประวัติชำระไม่ตรงเวลา ถ้าหากมีประวัติข้างต้น ธนาคารอาจไม่อนุมัติสินเชื่อให้คุณ
ลูกค้าอาจต้องเริ่มแก้ไขประวัติเหล่านั้นด้วยวินัยการชำระหนี้ที่ดี หรือลองปรึกษาธนาคารที่ต้องการถึงแนวทางขอสินเชื่อเมื่อติดประวัติเครดิตบูโร
2.ปลดภาระสินเชื่ออื่นๆ ลง
ข้อมูลหนี้สินของลูกค้าทั้งหมดในระบบจะมีบันทึกอยู่ในเครดิตบูโร หากลูกค้ามีภาระหนี้สินมากเกินไป ธนาคารจะไม่อนุมัติสินเชื่อให้ เพราะโดยทั่วไป ธนาคารจะพิจารณาสินเชื่อให้บุคคลไม่เกิน 30% – 40% ของรายได้ นั่นถือ หนี้สินทั้งหมดของลูกค้า รวมแล้วจะต้องไม่เกิน 40% ของรายได้
สินเชื่อที่ควรปลดให้ได้ก่อนขอสินเชื่อบ้านก็อาจเป็นสินเชื่อระยะกลาง เช่น สินเชื่อผ่อนรถ หรือสินเชื่อส่วนบุคคลก้อนใหญ่ เพื่อให้ภาระหนี้สินน้อยลง และเพื่อเป็นประวัติว่าสามารถชำระหนี้ได้
3.ชำระหนี้ให้ตรงเวลา
หากลูกค้ามีหนี้สินอื่นๆ ด้วย หรือทำบัตรเครดิตซึ่งเป็นหนี้ระยะสั้นอยู่บ้าง หนี้ประเภทนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อเครดิตการเงิน ถ้าหากลูกค้าชำระหนี้ตรงเวลาเสมอ เพราะเมื่อธนาคารเข้าไปตรวจประวัติกับเครดิตบูโร ก็จะเห็นว่าลูกค้าชำระหนี้ตรงเวลา มีวินัยทางการเงินที่น่าเชื่อถือ โอกาสได้รับอนุมัติสินเชื่อก็ยิ่งเพิ่มขึ้น
4.ใช้เงินอย่างเป็นระบบ
สำหรับข้อนี้ ธนาคารจะเล็งไปที่บัญชีเงินฝากของเรา เพื่อที่จะวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้จ่ายของเรา ลองนึกดูได้ว่า ธนาคารจะเชื่อถือคนแบบใด ระหว่างคนที่มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ บางเดือนมาก บางเดือนน้อย แล้วกดเงินบ่อย บางทีกดมากจนเกือบหมดบัญชี กับคนที่มีรายได้สม่ำเสมอ และมียอดกดเงินเท่าๆ ใกล้เคียงกันในแต่ละเดือน ธนาคารจะเลือกเชื่อถือคนแบบไหน
แน่นอนว่า คนที่ธนาคารจะเชื่อถือว่ามีพฤติกรรมการใช้เงิน คือ คนที่ใช้จ่ายอย่างเป็นระบบ ซึ่งคุณสามารถสร้างความน่าเชื่อถือตรงนี้ได้ แใ้จะไม่ได้มีรายได้ประจำก็ตาม
- ฝากเงินจำนวนเท่าๆ กันในแต่ละเดือน หรือมีขั้นต่ำที่ต้องมีเงินเข้าเป็นรายรับ
- มีกำหนดวันในการกดเงินจากบัญชี และจำกัดจำนวนครั้ง เช่น กดเงิน 2 ครั้งต่อเดือน คือ วันที่ 1 และวันที่ 16 เป็นต้น
- ไม่กดเงินจนหมดบัญชีหรือไม่กดเงินทีละมากๆ
5.ออมเงินเท่าจำนวนผ่อน
ข้อนี้ถือเป็นเทคนิคเฉพาะที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน นั่นคือ การฝากเงินเข้าบัญชีในจำนวนที่ใกล้เคียงกับยอดผ่อนเป็นเวลา 6 เดือนขึ้นไป ตามรายการเดินบัญชีที่ต้องยื่น ซึ่งลูกค้าสามารถคาดคะเนยอดผ่อนชำระต่อเดือนของลูกค้าแบบคร่าวๆ ได้ก่อน โดยใช้สัดส่วนชำระหนี้ 7,000 บาท / 1,000,000 บาท (สำหรับสัญญาผ่อนชำระ 30 ปี) จริงๆยอดผ่อนอาจจะน้อยกว่านี้นะคะ เพราะดอกเบี้ยธนาคารตอนนี้ไม่ได้สูงเท่านี้ค่ะ
วิธีนี้ยังถือเป็นการสร้างวินัยทางการเงินให้ลูกค้าด้วย และถือเป็นการทดลองผ่อนจริง ดังนั้น หากทำได้ อย่างไรเอกสารการเดินบัญชีของลูกค้าก็ต้องผ่านแน่นอน นอกจากนี้ ยังมีอีกเคล็ดลับในการออมเงินเพื่อการกู้สินเชื่อบ้าน คือ การฝากเงินกับธนาคารที่ลูกค้าสนใจขอกู้ เป็นการสร้างประวัติทางการเงินกับผู้ปล่อยกู้ให้เขาตรวจสอบง่ายขึ้น และยังเป็นการสานสัมพันธ์ก่อนขอกู้จริง เพิ่มโอกาสอนุมัติไปอีกขั้น
สรุป
ทุกคนที่ขอสินเชื่อบ้านไปต้องการได้รับอนุมัติ และถ้ายื่นเอกสารขอสินเชื่อบ้านผ่านตั้งแต่ครั้งแรก ก็ยิ่งน่ายินดี วิธีที่จะทำให้ขอสินเชื่อผ่านตั้งแต่ครั้งแรกนั้น ต้องเริ่มต้นตั้งแต่การเตรียมตัวสร้างเครดิตการเงินให้ดีซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลา ถ้าหากลูกค้ามีความฝันอยากมีบ้านอยู่แล้ว ก็สามารถเริ่มต้นเตรียมตัวได้ตั้งแต่วันนี้ และสุดท้ายจึงค่อยเตรียมเอกสารให้ครบ ดูให้เรียบร้อย ยื่นขอสินเชื่อทีเดียวให้ผ่าน
หากลูกค้าต้องการเลือกบ้านที่เหมาะกับรายได้รายเดือน สามารถเลือกดูได้จากทางเว็บนี้นะคะ https://www.wangthong.com/ และสามารถโทรไปหาแต่ละโครงการเพื่อปรึกษาเรื่องสินเชื่อได้เลยค่า 😘